• Sunday, May 20, 2018

    สินน้ำใจควรมีไหม! สาวคืนหวยรางวัลที่ 1 ให้เจ้าของ ลาภมิควรได้หรือ...







    สาวพลเมืองดี คืนลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 ให้กับเจ้าของ ทนายที่ปรึกษาของเธอ ไขข้อสงสัยเงินสินรางวัลที่ควรได้ตามกฎหมาย มีหรือไม่ ควรได้เป็นจำนวนเท่าไร...





    กรณีข่าวดัง น.ส.ริญญาภัทร์ ดีมาก หรือเอช สาววัย 35 ปี สุดยอดคนดีและซื่อสัตย์ นำลอตเตอรี่ถูกรางวัลที่ 1 คืนเจ้าของราย เหตุการณ์ดังกล่าว ทีมข่าวฯ ได้รับการเปิดเผยจาก นายสีเภา เพชรนก ทนายความในเขต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี และอดีตที่ปรึกษานายกเทศมนตรี ผู้ให้คำปรึกษา และพา น.ส.ริญญาภัทร์ ไปลงบันทึกประจำวันพบลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 พร้อมคืนเจ้าของที่ สภ.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี เมื่อเย็นวันที่ 17 พ.ค. 61
    เหตุการณ์หวยหายครั้งนี้ นายสีเภา ย้อนเล่าเหตุการณ์ว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ค. น.ส.ริญญาภัทร์ ไปสมัครงานสถานรับเลี้ยงเด็กแห่งหนึ่งย่านถนนพระราม 9 กทม. ขากลับเจ้าของสถานรับเลี้ยงเด็กให้เงินจ่ายค่ารถแท็กซี่กลับบ้านเมื่อถึงบ้าน ควักเงินออกมาจ่ายค่าแท็กซี่ พบลอตเตอรี่ติดมากับธนบัตร 3 ใบ จึงรีบถ่ายภาพลอตเตอรี่ทั้ง 3 ใบ ส่งผ่านแอปพลิเคชันไลน์ให้เจ้าของสถานเลี้ยงเด็กทราบ และให้มารับคืน แต่เจ้าของยังไม่ได้ไปรับคืน
    กระทั่งถึงวันหวยออกงวดวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา พบว่าสลากหมายเลข 075629 ที่ติดมานั้น ถูกรางวัลที่ 1 จำนวน 1 ใบ รับเงินรางวัล 6 ล้านบาท ด้วยความอยากส่งคืน น.ส.ริญญาภัทร์จึงรีบมาปรึกษา และร่วมใจลงบันทึกประจำวัน เพื่อความบริสุทธิ์ใจ ล่าสุดเจ้าของสถานรับเลี้ยงเด็ก ทราบว่าถูกรางวัลที่ 1 ก็ติดต่อมาขอรับ และได้ส่งคืนลอตเตอรี่ให้กับผู้เป็นเจ้าของแล้ว
    จากกรณีดังกล่าว หลังไทยรัฐออนไลน์นำเสนอข่าวไปแล้ว ในโลกโซเชียล มีเเฟนเพจไทยรัฐออนไลน์ ต่างเข้ามาแสดงความยินดี ชื่นชม และยกย่อง น.ส.ริญญาภัทร์ กันเป็นเป็นจำนวนมาก และต่างวิจารณ์กันอย่างสนุกโดยนำไปเปรียบเทียบกับเรื่องราวหวยหาย 30 ล้าน ที่กำลังเป็นข้อพิพาทข้ามปีระหว่าง ลุงจรูญ และครูปรีชา...
    “คนดีๆ แบบนี้หายาก น้องเขาดีมากๆ มาปรึกษาผมที่บ้าน บอกไม่รู้จะทำไงดี เขารู้ว่าไม่ใช่ของเขา และตั้งใจจะคืนเจ้าของ น่าชื่นชมมากๆ ผมว่าความอยากได้ของคนมีกันทุกคน แต่ความรู้สึกคิดดีของน้องเขามีมากกว่า ผมชื่นชมเขามากๆ เขามีเจตนาดีตั้งแต่พอส่งไลน์ไปแจ้งเจ้าของเขาทันที สิ่งที่เขาควรได้รับคือรางวัลจากเจ้าของทรัพย์” นายสีเภากล่าวชื่นชม น.ส.ริญญาภัทร์
    สำหรับการให้รางวัลสินน้ำใจ นั้น เจ้าของไม่ให้สินน้ำใจได้หรือเปล่า ตามกฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ สิ่งตอบแทนควรเป็นอะไร จะได้ไม่เป็นปมกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าให้น้อย ดังกรณีข่าวดังปี 60 กระเป๋ารถเมล์เก็บกระเป๋าเป้ของผู้โดยสารที่ลืมไว้ ซึ่งมีเงิน 1,120,000 บาท ส่งคืนเจ้าของ แต่ได้รับสินน้ำใจเป็นเพียงขนม 2 ห่อ และการเก็บได้ของ ไม่ว่าจะหล่นหาย หรือติดมา ไม่คืนเจ้าของได้หรือเปล่า ข้อสงสัยทั้งหมด นายสีเภา ทนายความได้ให้ข้อมูลตามกฎหมายไว้อย่างน่ารู้
    เปิดหลักกฎหมาย สิ่งที่คนเก็บควรได้ จากการคืนทรัพย์สินให้เจ้าของ
    “ผมไม่ทราบว่าตอนนี้น้องเขาได้รับสินรางวัลหรือเปล่า น้องเขายังไม่ได้ติดต่อมา เรายังไม่ได้คุยกัน อาจเป็นเพราะทางเจ้าของอาจไม่อยากเป็นข่าวหรือเปล่า แต่เท่าที่ทราบคือ ส่งคืนลอตเตอรี่กันแล้ว ในแง่ของกฎหมาย การเก็บของตกหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดไว้ชัดเจน ใครเก็บทรัพย์สินคนอื่นได้ และนำคืนเจ้าของในวันเวลาที่กฎหมายกำหนด 3 วัน
    จะมีสิทธิ์ได้รับรางวัลจากเจ้าของ ตามกฎหมาย เป็นจำนวนร้อยละ 10 แห่งค่าของ เช่น ถ้าของมีมูลค่า 3 หมื่นบาท ผู้เก็บได้จะได้รางวัล 3,000 บาท ถ้าของตกหายมีราคาสูงกว่า 30,000.-บาท ให้คิดเอาอีกร้อยละ 5 ของจำนวนเงินที่เกินจาก 30,000.-บาท ในกรณีของน้องเอชนี้ ตามหลักควรได้ประมาณ 3 แสนกว่าๆ
    นายสีเภา อธิบายตามหลักกฎหมาย พร้อมชี้แนะสิทธิ์ของคนเก็บได้ หลังส่งมอบของหายให้แก่เจ้าของ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1324 ซึ่งเป็นสิทธิของผู้เก็บทรัพย์สินหายที่จะเรียกเอารางวัลหรือไม่ ก็แล้วแต่ผู้เก็บทรัพย์สินได้
    เล่นแง่ ขอแบ่งคนละครึ่ง เบี้ยวไม่ยอมให้สินรางวัล ทำได้ไหม?
    ทีมข่าวฯ ซักถามต่อ หากเกิดกรณีเจ้าของเบี้ยว ไม่ยอมจ่าย กฎหมายระบุไว้หรือไม่ หรือผู้เก็บได้อยากขอแบ่งเงิน 50/50 ทำได้ไหม
    นายสีเภาชี้แนะ หากถูกเจ้าของเบี้ยว ไม่ให้เงินรางวัลก็ต้องไปฟ้องทางแพ่ง ส่วนกรณีของเเบ่งคนละครึ่งนั้น ในกฎหมายไม่ได้ระบุ แต่หากเจ้าของมีน้ำใจอยากให้ ก็ทำได้ หรืออาจจะให้แค่แสน ห้าหมื่น ก็ทำได้ แล้วแต่การตกลงต่อรองกัน แต่ตามหลักกฎหมายต้องให้ตามที่แจ้งไว้ข้างต้น ซึ่งการให้รางวัลนี้ รวมไปถึงทรัพย์สินอื่นๆ ที่ไม่ใช่ลอตเตอรี่ ด้วย
    เก็บได้ มีหรือไม่มีเจ้าของ ต้องรีบแจ้งตำรวจ ปกป้องสิทธิ์เงินรางวัลที่ควรได้
    อย่างไรก็ดี หากมีคนเก็บของหายได้ ผู้เก็บต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1323 บุคคลใดเก็บได้ซึ่งทรัพย์สินหาย ต้องทำอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
    1.ส่งมอบทรัพย์สินนั้นแก่ผู้ของหาย หรือเจ้าของ หรือบุคคลอื่นผู้มีสิทธิจะรับทรัพย์สินนั้น  หรือ
    2.แจ้งแก่ผู้ของหาย หรือเจ้าของ หรือบุคคลอื่นผู้มีสิทธิจะรับทรัพย์สินนั้นโดยมิชักช้า หรือ
    3.ส่งมอบทรัพย์สินนั้นแก่เจ้าพนักงานตำรวจ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่อื่น ภายใน 3 วัน และแจ้งพฤติการณ์ตามที่ทราบอันอาจเป็นเครื่องช่วยในการสืบหาตัวบุคคลผู้มีสิทธิจะรับทรัพย์สินนั้น
    “เก็บได้ ถ้ารู้ว่าเจ้าของคือใคร ต้องติดต่อส่งมอบคืน ถ้าไม่รู้ว่าเป็นของใคร ก็ต้องไปแจ้งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อลงบันทึกประจำวันไว้ แสดงความประสงค์ว่าอยากคืน ควรแจ้งภายใน 3 วัน ถ้า
    อุบอิบ มุบมิบ ซ่อนเร้น อาจโดนข้อหายักยอกทรัพย์
    การเก็บได้ของที่ไม่ใช่ของเรา ไม่ว่าจะตกหล่นหาย หรือติดมา ต้องคืนเจ้าของ หากไม่ส่งคืนนอกจากไม่มีสิทธิรับรางวัลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1323 แล้ว ยังจะถูกเชื่อมโยงคดีอาญาในข้อหายักยอกทรัพย์ ดังกรณีศึกชิงหวย 30 ล้าน
    และการส่งคืนของมีค่าให้กับเจ้าของ จะตกลงส่งมอบกันเองได้ แต่วิธีที่ดีและเรียบร้อยสมบูรณ์ที่สุด ควรมอบต่อหน้าเจ้าที่ตำรวจ และลงบันทึกประจำวันไว้ โดยเฉพาะทรัพย์สินที่มีค่าสูงๆ
    “หากเก็บของมีค่าได้ ไม่ไปแจ้งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะเชื่อมคดีอาญา ข้อหายักยอกทรพัย์ ว่าไปตามลักษณะพฤติกรรมแต่ละเรื่อง หากเก็บของได้ แล้วไม่ยอมคืนเจ้าของ ผู้ที่เก็บได้จะมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์สินหาย ต้องรับโทษทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคสอง จำคุกไม่เกิน 1 ปี 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 3,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
    ส่วนระยะเวลาของการประกาศหาเจ้าของ ตามกฎหมายภายใน 1 ปี นับแต่วันที่เก็บได้ หากไม่มีใครมาแสดงความเป็นเจ้าของ และของมีค่าเป็นของทั่วๆ ไป ที่ไม่ใช่วัตถุโบราณ หรือของๆ รัฐ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะเรียกคนเก็บให้มารับสิทธิ์ความเป็นเจ้าของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1325 วรรคแรก ให้กรรมสิทธิ์ในของหายตกเป็นของผู้เก็บได้ นายสีเภากล่าว
    จากความซื่อสัตย์ของ น.ส.ริญญาภัทร์ ในครั้งนี้ ทีมข่าวฯ ขอยกย่องในคุณงามความดี และจากการพูดคุยทางกฎหมายกับนายสีเภา ทำให้รู้ว่า “ของไม่ใช่ของเรา ยังไงก็ไม่ใช่ของเรา เอาไปก็มีแต่ทุกขลาภ”

    ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

    สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่าน มาได้ที่ reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ 

    No comments:

    Post a Comment